รู้จักผลิตภัณฑ์ทางการเงินกันเถอะ

folder_openบทความ
วันนี้มาแนะนำ 5 ผลิตภัณฑ์ทางการเงินว่ามีอะไรบ้าง มันคืออะไร ผลตอบแทนคาดหวังได้ที่เท่าไหร่ มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักหรือกำลังศึกษา ลองเริ่มต้นจากบทความนี้ได้เลย
ฝากออมทรัพย์/ฝากประจำ

คำอธิบาย: การนำเงินของเราไปฝากไว้ที่ธนาคาร แล้วธนาคารก็จะนำเงินส่วนหนึ่ง (จริงๆก็ประมาณ 90%) ของเราไปลงทุน และแบ่งกำไรให้เราในรูปแบบของดอกเบี้ยประจำปี

สภาพคล่อง: ฝากออมทรัพย์สามารถถอนเงินได้ตลอดเวลา (T+0) แต่ถ้าเป็นการฝากประจำจะถอนได้เมื่อครบกำหนดเท่านั้น เพราะฉะนั้นสภาพคล่องจะต่ำกว่าออมทรัพย์

ปัจจัยเสี่ยง: ความมั่นคงของธนาคาร เพราะอ้างอิงตาม พรบ.คุ้มครองเงินฝาก จะมีการคุ้มครองเงินแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น เราอาจจะสูญเสียเงินฝากได้

ผลตอบแทนคาดหวัง: น้อยกว่า 2% ต่อปี (ออมทรัพย์ทั่วไป 0.5%, ดอกเบี้ยฝากประจำขึ้นอยู่กับช่วงเวลาฝาก 3 เดือน, 6 เดือน, 1 ปี) โดยถ้าดอกเบี้ยมากกว่า 20,000 บาท จะต้องเสียภาษี 15%

หมายเหตุ: เดี๋ยวนี้มีบัญชีออมทรัพย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยนะฝากถอนได้ตลอดเวลา และให้ดอกเบี้ยประมาณ 1.5-2% เลยทีเดียว แต่อาจจะมีเงื่อนไขเล็กๆน้อยๆลองศึกษาได้จากทุกธนาคารเลย ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าฝากประจำแล้ว ณ เวลานี้

ตลาดเงิน

คำอธิบาย: ตลาดที่มีการซื้อขายตราสารทางการเงินที่มีการครบกำหนดในระยะเวลาสั้นๆ  ตลาดเหล่านี้ช่วยให้ทั้งบริษัทและรัฐบาลสามารถเอาชนะปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้นได้

สภาพคล่อง: 1 วันหลังจากส่งคำสั่งขาย (T+1) ดีกว่าฝากประจำแต่น้อยกว่าออมทรัพย์

ปัจจัยเสี่ยง: เนื่องจากเป็นการลงทุนในเงินฝากของธนาคารต่าง ๆ ทั้งนอกและในประเทศ ตั๋วเงิน อาจจะมีความเสี่ยงจากผลกระทบของ พรบ. คุ้มครองเงินฝาก ในกรณีธนาคารล้มละลาย

ผลตอบแทนคาดหวัง: เฉลี่ย 1.2-1.8% ต่อปี

ตราสารหนี้/หุ้นกู้/พันธบัตร

คำอธิบาย: เป็นการลงทุนโดยผู้ลงทุนจะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกตราสารจะเป็นลูกหนี้ หลักการก็คือเป็นการกู้เงินจากนักลงทุนไปใช้และให้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน

สภาพคล่อง:  โดยทั่วไปประมาณ 2 วันหลังจากส่งคำสั่งขาย (T+2)

ปัจจัยเสี่ยง: 1. อายุเฉลี่ยของตราสาร 2. ความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร 3. การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร

ผลตอบแทนคาดหวัง: เฉลี่ย 2-5% ต่อปี

หมายเหตุ: การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ จะช่วยกระจายความเสี่ยงจากอายุของตราสารและประเภทของธุรกิจที่นำเงินไปลงทุนได้ และยังสามารถลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศได้ด้วย จึงแนะนำเป็นการลงทุนด้วยกองทุนรวมจะดีกว่า เว้นแต่ศึกษาหาความรู้การลงทุนและธุรกิจมาระยะหนึ่งสามารถเลือกลงทุนหุ้นกู้บริษัทเอกชนรายตัวได้

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

คำอธิบาย: เป็นการรวบรวมเงินลงทุนจากนักลงทุนแล้วไปลงทุนในอสังหาฯ มุ่งเน้นให้ได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอในรูปแบบของค่าเช่า ส่วนมากจะจ่ายให้นักลงทุนในรูปแบบของเงินปันผล ส่วนใหญ่จะลงทุนในอสังหาฯประเภทต่างๆ เช่น โรงแรม ศูนย์การค้า สำนักงาน โรงงานและคลังสินค้า และอื่นๆ เช่น data center, สนามบิน สวนน้ำ

สภาพคล่อง: โดยทั่วไปประมาณ 5 วันหลังจากส่งคำสั่งขาย (T+5)

ปัจจัยเสี่ยง: 1. โดยทั่วไปผลตอบแทนจะแปรผกผันกับดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นหากดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น กองทุนอสังหาฯจะมีความน่าสนใจลดลง 2. การโดนเบี้ยวเงินจากผู้เช่าอสังหาฯ 3. ภัยพิบัติจากธรรมชาติ 4. สงครามหรือการประท้วงบริเวณที่ตั้งอสังหาฯ

ผลตอบแทนคาดหวัง: เฉลี่ย 5-10% ต่อปี รวมเงินปันผล (เงินปันผลเสียภาษี ณ ที่จ่าย 10%)

หุ้น/กองทุนรวมหุ้น

คำอธิบาย: ตราสารทุน หรือ หุ้น คือตราสารที่กิจการต่างๆออกให้ผู้ถือ (นักลงทุน) เพื่อระดุมทุนไปใช้ในกิจการนั้นๆ โดยผู้ถือหุ้นจะมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการด้วย รวมทั้งมีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการ และมีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผล

สภาพคล่อง: กรณีลงทุนหุ้นรายตัวสภาพคล่องแล้วแต่หุ้น, กรณีลงทุนด้วยกองทุนรวมหุ้น 2-4 วันหลังจากส่งคำสั่งขาย (T+2/T+4) โดยประมาณ

ปัจจัยเสี่ยง: 1. ความผันผวนสูงมากเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ 2. ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับความสามารถและการแข่งขันของธุรกิจในกิจการนั้นๆ 3. อัตราการแลกเปลี่ยนเงินกรณีลงทุนหุ้นต่างประเทศ

ผลตอบแทนคาดหวัง: เฉลี่ย 8-15% ต่อปี รวมเงินปัน (เงินปันผลเสียภาษี ณ ที่จ่าย 10%)

หมายเหตุ: การลงทุนในหุ้นนั้นมีความเสี่ยงสูงมาก ผู้ลงทุนควรศึกษาอย่างดี การเลือกใช้กองทุนรวมหุ้นเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้เริ่มต้นและผู้ที่มีเวลาศึกษาธุรกิจไม่มากนัก (แต่ต้องศึกษาอยู่ดีนะ) และกองทุนรวมหุ้นยังสะดวกในมุมของการลงทุนหุ้นต่างประเทศอีกด้วย

บทความ โดย คุณพลชา โรจน์เลิศจรรยา, ที่ปรึกษาการเงินบริษัท Money Diaries

Tags: กองทุนรวม, วางแผนการเงิน, หุ้น

Related Posts

Next Post
Asset Allocation ทำแล้วได้อะไร ช่วยจริงไหม ?